มาตรา 33 35 ปี 2559

มาตรา 33 การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ
การคำนวณอัตราส่วนการจ้างงานคนพิการ
มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนําส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการต้องมีอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน เศษของลูกจ้าง 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน เช่น

  • สถานประกอบการมีลูกจ้าง 500 คน จะต้องจ้างคนพิการ 5 คน
  • สถานประกอบการมีลูกจ้าง 549 คน จะต้องจ้างคนพิการ 5 คน
  • สถานประกอบการมีลูกจ้าง 550 คน จะต้องจ้างคนพิการ 6 คน

การนับจำนวนลูกจ้างให้นับทุกวันที่ 1 ตุลาคมของแต่ละปี และกรณีสถานประกอบการมีหน่วยงานหรือสาขาในจังหวัดต่าง ๆ ให้นับรวมลูกจ้างที่มีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างและลูกจ้างในองค์กรนั้นทุกสาขา และนำมาคำนวณตามอัตราส่วน 100:1

การติดต่อ:

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถแจ้งความต้องการหาลูกจ้างคนพิการที่สำนักงานจัดหางาน เพื่อให้สำนักงานจัดหางานอำนวยความสะดวกในการจับคู่คนพิการและตำแหน่งงานว่างได้

  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานกทม/
  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในจังหวัดอื่นให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดรายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานจังหวัด/

หมายเหตุ: คนพิการที่รับเข้าทำงานตามมาตรา 33 ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ เนื่องจากต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการประกอบการรายงานผลการจ้างงานแก่กรมการจัดหางาน
สิทธิทางภาษีตามมาตรา 33
ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงานสำหรับเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว กล่าวคือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันสังคม ฯลฯ) มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า เช่น

  • สถานประกอบการจ้างคนพิการ 1 คน เดือนละ 15,000 บาท
  • สถานประกอบมีรายจ่ายในการคนพิการ 15,000 x 12 = 180,000 บาทต่อปี
  • สามารถลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า เป็นเงิน 360,000 บาท
  • สถานประกอบการประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น (360,000 – 180,000) x 20% = 36,000 บาท

มาตรา 34 การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในกรณีไม่สามารถจ้างคนพิการได้ตามมาตรา 33
มาตรา 34 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 หรือไม่ดำเนินการตามมาตรา 35 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
การส่งเงินเข้าและขอรับเงินคืนจากกองทุนฯ: การส่งเงินเข้ากองทุนฯ คำนวณจาก อัตราต่ำสุดของค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้บังคับครั้งหลังสุดในปีก่อนปีที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ คูณด้วย 365 (วัน) และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน
ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือดำเนินการตามมาตรา 35 แต่ไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามจำนวนวันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เว้นแต่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น
การส่งเงินเข้ากองทุนฯ ให้ส่งเป็นเงินสด เช็คขีดคร่อมหรือธนาณัติสั่งจ่ายกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยส่งต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือส่งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกำหนด ภายในวันที่ 31 มีนาคมของแต่ละปี
หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ แต่ไม่ได้ส่ง ส่งเงินล่าช้า หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ
ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของกิจการได้รับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดหรือดำเนินการตามมาตรา 35 ภายหลังจาก 31 มีนาคมของแต่ละปี ให้ยื่นคำขอต่อกองทุนฯ เพื่อขอรับเงินที่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ ไปได้ตามจำนวนค่าจ้างที่ได้จ่ายไปจริง (แต่ไม่เกินจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นรายวันที่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ) คูณด้วยจำนวนวันที่ได้จ้างจริง และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ได้จ้างจริง
สิทธิทางภาษีตามมาตรา 34
นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯ มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่จ่ายจริง เนื่องจากจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯ ถือเป็นรายจ่ายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยกองทุนฯ ประกอบด้วย
มาตรา 35 การให้สัมปทาน สถานที่จำหน่ายสินค้า จ้างเหมา ฝึกงาน หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถดำเนินการสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 ได้โดยการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานด้วยวิธีพิเศษ ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ
โดยให้แจ้งการให้สิทธิและดำเนินการให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเข้ารับสิทธิภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยการแจ้งให้สิทธิตามข้างต้น ให้หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการแจ้ง ณ ท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานหรือสถานประกอบการ ดังนี้

  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานกทม/
  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในจังหวัดอื่นให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดรายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานจังหวัด/
  • แบบแจ้งขอใช้สิทธิตามมาตรา 35https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/8016eddba5dcce47467847d9b135917f.pdf

การดำเนินการตามมาตรา 35

  1. การให้สัมปทาน หมายถึง การให้สิทธิคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการใช้ประโยชน์จากอาคาร สถานที่ หรือทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ เช่น ให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการใช้พื้นที่ในการทำเกษตรจำนวน 2 ไร่ เพื่อปลูกผัก และให้เป็นผู้หาประโยชน์จากการขายผักตลอดระยะเวลาการให้สัมปทาน เป็นต้นแบบคำขอการให้สัมปทานhttps://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/2e60285bb686faf62ad4791bfb0f14d4.pdf
  2. การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ หมายถึง การจัดสถานที่ทั้งภายในหรือภายนอกองค์กรเพื่อให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น ให้พื้นที่บริเวณโรงอาหารเพื่อให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการขายอาหารจำนวน 1 ร้าน และผลประโยชน์และเงินรายได้จากการขายอาหารให้ตกเป็นของคนพิการ เป็นต้นแบบคำขอการจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการhttps://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/f8cdc999f6d6e2db8ed3113e3e50e1a5.pdf
  3. การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ หมายถึง การจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการจากคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการโดยตรง เช่น หน่วยงานทำสัญญาจ้างเหมากับคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการในการทำป้ายไวนิลจำนวน 100 แผ่น ในระยะเวลา 2 เดือน ในราคา 20,000 บาท เป็นต้นแบบคำขอการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการhttps://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/afa9e423f82c597b646291713f5d201d.pdf
  4. การฝึกงาน หมายถึง การเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ หรือการถ่ายทอดวิทยาการหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เช่น หน่วยงานฝึกงานหลักสูตรซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 30 คน โดยหน่วยงานเป็นผู้จัดหาที่พัก วัสดุ อุปกรณ์ วิทยากร เอกสาร ค่าพาหนะ และค่าเบี้ยเลี้ยง ตลอดการเข้าฝึกงานให้แก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ รวมระยะเวลาการฝึกงานทั้งสิ้น 6 เดือน โดยหลักสูตรต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้นแนวปฏิบัติการพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรฝึกงานคนพิการตามมาตรา 35 โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานhttp://www.dsd.go.th/wepdp/Region/Download_Doc/5838แบบคำขอความเห็นชอบหลักสูตรการฝึกงานให้แก่คนพิการตามมาตรา 35http://www.dsd.go.th/DSD/Doc/Download/4946แบบคำขอการฝึกงานhttps://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/BKK_th/df2702a7f8e267c73631d123e27172a8.pdf
  5. การจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก หมายถึง การจัดให้มีขึ้นใหม่หรือปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ โดยดำเนินการในสถานที่หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงาน เช่น หน่วยงานจัดให้มีทางลาด ที่จอดรถ ลิฟท์เคาน์เตอร์สำหรับบริการคนพิการทางการเคลื่อนไหว เป็นต้นแบบคำขอการจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกhttps://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/c178b3980c2a877524ca6f3e703e8b01.pdf
  6. การจัดให้มีล่ามภาษามือ หมายถึง การจัดให้มีล่ามภาษามือในหน่วยงานที่มีคนพิการทางได้ยินปฏิบัติงานอยู่ เช่น หน่วยงานที่มีคนพิการทางการได้ยินได้จ้างบุคคลซึ่งจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร โดยหน่วยงานเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้ล่ามภาษามือ เป็นต้นแบบคำขอการจัดให้มีบริการล่ามภาษามือhttps://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/4a9ca3cfebeaff6d882104cf28f3e61d.pdf
  7. การให้ความช่วยเหลืออื่นใด หมายถึง การให้การสนับสนุนด้านการเงิน วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องมือ หรือทรัพย์สินอื่น รวมทั้งการซื้อสินค้าจากคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการโดยตรง เช่น หน่วยงานสนับสนุนจักรเย็บผ้าให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ พร้อมอุปกรณ์ในการเย็บผ้า (ด้าย เข็ม ฯลฯ) เพื่อให้นำไปประกอบอาชีพเย็บผ้า เป็นต้น

หมายเหตุ: คนพิการที่เข้าใช้สิทธิตามมาตรา 35 ต้องมีบัตรประจำตัวคน เนื่องจากต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการประกอบการรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 35 แก่กรมการจัดหางาน
สิทธิทางภาษีตามมาตรา 35
หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรา 35 จะได้รับสิทธิทางภาษีดังนี้

  1. การให้สัมปทาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินำมูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ
  2. การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินำมูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของตนมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ
  3. การจัดจ้างเหมาช่วงหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษที่เป็นไปเพื่อกิจการของตน หรือเป็นไปเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ โดยเป็นการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการไปยังสถานที่ดังต่อไปนี้ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ– ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน– สภากาชาดไทย– วัดวาอาราม– สถานพยาบาลของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล– สถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชน– องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
  4. การฝึกงาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
  5. การจัดให้มีล่ามภาษามือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
  6. การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า
  7. การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เช่น การซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ถ้านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการให้เงินคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานให้กับคนพิการ กรณีนี้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
This site is registered on wpml.org as a development site.